A trusted partner for AI&Robotics solutions driven by innovations at scale
ไอบีเอ็ม เผยเป้าหมายสนับสนุนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาของไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ The New Era of Sustainable Business Underpinned by AI & Hybrid Cloud เน้นสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของเทคโนโลยีเอไอและไฮบริดคลาวด์
นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง และนายสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี ร่วมเปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนไอบีเอ็ม ประเทศไทย ในการสนับสนุนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาของไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ The New Era of Sustainable Business Underpinned by AI & Hybrid Cloud ซึ่งจะมีการมุ่งเน้นในมิติหลักๆ สามประการ คือ การสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน (Sustainable Partnership) . การนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน (Technology for Sustainable Business) และการพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืน (Talent for Sustainable Growth)
สำหรับการสร้างความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรอย่างยั่งยืน นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ 70 ปีในประเทศไทย สิ่งที่ไอบีเอ็มมุ่งมั่นตลอดมาคือการยึดความสำเร็จของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจเป็นเป้าหมายสำคัญ ดังตัวอย่างความร่วมมือและการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนระบบและโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ การได้รับความไว้วางใจจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ในการนำเทคโนโลยีของไอบีเอ็มเข้าเป็นหนึ่งในระบบหลักที่รองรับระบบคอร์แบงค์กิ้งของธนาคาร และธุรกรรมหลายล้านรายการต่อวัน รวมถึง ไอบีเอ็มยังได้มีส่วนช่วยให้ KBank สามารถต่อกรกับภัยคุกคามและตรวจจับการฉ้อโกงต่างๆ ได้เร็วและถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม Open API ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือกรุงศรี เชื่อมต่อคู่ค้าในอีโคซิสเต็มของธนาคารเข้ากับบริการดิจิทัลต่างๆ และร่วมกับเอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (เออาร์วี) พัฒนาแพลตฟอร์ม National Digital Corporate Identity (NCID) ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลระบบแรกในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรและธนาคารไทยดำเนินกระบวนการ KYC ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ จะมีการเริ่มใช้งานระบบ NCID จริงเป็นครั้งแรกในอาเซียน บน Joint Sandbox ที่ก่อตั้งขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2565 นี้ โดยในฐานะผู้ที่มีส่วนสำคัญในการริเริ่มและสร้างแพลตฟอร์ม ปตท.สผ. จะร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และธนาคารคู่ค้ากว่า 13 แห่ง เพื่อนำร่องใช้งานแพลตฟอร์มนี้ผ่านทาง เออาร์วี ภายใต้เป้าหมายในการขยายการใช้งานไปสู่อีโคซิสเต็มธนาคารใน ASEAN และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
เป้าหมายต่อจากนี้ไปคือการเข้าไปมีร่วมช่วยลูกค้าและพันธมิตรวางโร้ดแม็ปเทคโนโลยีและธุรกิจ เพื่อพัฒนาระบบและเทคโนโลยีที่จะรองรับการเติบโตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในยุคของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบไอที และการเปลี่ยนผ่านสู่โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่การสร้างแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้าจะทวีความสำคัญ
ส่วนด้านการนำเทคโนโลยีเข้าช่วยสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน นายสุรฤทธิ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการดิสรัปชันที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมผู้บริโภค โมเดลการทำธุรกิจ ระบบซัพพลายเชน ฯลฯ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในกุญแจสำคัญด้านเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล คือเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างไฮบริดคลาวด์ และเอไอ
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชันสำคัญเพียง 25% ที่ได้รับการจัดเก็บอยู่บนคลาวด์ ขณะที่ผลการศึกษาระดับโลกของไอบีเอ็ม เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความต้องการขององค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีผู้บริหารไทยที่ตอบแบบสำรวจแม้แต่รายเดียว ที่ระบุว่ายังใช้คลาวด์จากเวนเดอร์รายเดียว หรือยังใช้พับบลิคคลาวด์เพียงอย่างเดียวอยู่ สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยีไฮบริดคลาวด์ของไอบีเอ็ม ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงระบบและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่อยู่ภายในองค์กร (on-premise) บนพับบลิคคลาวด์ และไพรเวทคลาวด์ได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้สามารถเดินหน้าพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนแอพพลิเคชันและระบบต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว รองรับพลวัตรโลกดิจิทัลและความต้องการของลูกค้าภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งนี้ไอบีเอ็มยังมองว่าจุดต่างที่จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้แต่ละองค์กรได้ คือความสามารถในการไขรหัสมุมมองเชิงลึกที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลมหาศาล และในปีนี้ ไอบีเอ็มจะมุ่งเน้นที่การนำเทคโนโลยีเอไอสำหรับธุรกิจ (AI for Business) ตั้งแต่อนาไลติกส์ ออโตเมชัน AIOps เทคโนโลยีการคาดการณ์และแจ้งเตือนการซ่อมบำรุงระบบ เป็นต้น
นอกจากนี้เทคโนโลยีซิเคียวริตี้ระดับโลกจาก IBM Security เข้าสนับสนุนการดำเนินงาน การเพิ่มประสิทธิภาพ การลดต้นทุน การวางแผนคาดการณ์ ฯลฯ ขององค์กรไทยในทุกอุตสาหกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้องค์กรก้าวข้ามความท้าทายในการใช้และเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีต่างๆ ภายใต้ปัจจัยผันผวนรอบด้านที่กระทบต่อธุรกิจ
อย่างไรก็ดีไอบีเอ็ม นำโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม (IBM Research) ยังจะมุ่งมั่นเดินหน้าต่อเนื่องในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยตัวอย่างเทคโนโลยีล่าสุดที่ได้พัฒนาขึ้น อาทิ ชิปขนาด 2 นาโนเมตร (nm) ตัวแรกของโลก ภายใต้ประสิทธิภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น 45% และใช้พลังงานน้อยลง 75% เมื่อเทียบกับชิปขนาด 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน โดยจะนำสู่คุณประโยชน์หลักๆ อาทิ การช่วยเพิ่มอายุแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสี่เท่า การลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ลงอย่างก้าวกระโดด เป็นต้น
และมีโร้ดแม็ปการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาท้าทาย ซึ่งรวมถึงความซับซ้อนของปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่มีพลังประมวลผลมากพอที่จะทำการคำนวณผลลัพธ์ได้ โดยในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มประสบความสำเร็จในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งขนาด 127 คิวบิตเป็นครั้งแรกของโลก และปัจจุบันกำลังเดินหน้าสู่การพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้งขนาด 1,000 คิวบิต โดยตั้งเป้าหมายไว้ภายในปี 2566 นี้
สำหรับการสร้างระบบเอไอที่เชื่อถือได้ ไอบีเอ็มได้กำหนด Principles for Trust and Transparency สำหรับการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ ประกอบด้วย 1) วัตถุประสงค์ของการใช้เอไอคือการต่อยอดความสามารถในการเรียนรู้และการใช้ทักษะความรู้ของมนุษย์ 2) ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่ได้รับการวิเคราะห์จากข้อมูลนั้นๆ ต้องเป็นของผู้สร้างข้อมูลนั้นๆ และ 3) เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเอไอต้องโปร่งใส อธิบายที่มาของการตัดสินใจของระบบได้ และต้องมีการบรรเทาผลเสียอันอาจเกิดขึ้นจากอคติที่รุนแรงและไม่เหมาะสม
ที่ผ่านมา นักวิจัยไอบีเอ็มได้พัฒนาแนวทางและเครื่องมือในการต่อกรกับปัญหาความน่าเชื่อถือของเอไอ ตัวอย่างเช่น AI Factsheets ที่จะทำหน้าที่เหมือนฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหาร หรือ AI Explainability 360 และ AI Fairness 360 ที่จะช่วยตรวจสอบว่าโมเดลเอไอดำเนินการตัดสินใจภายใต้หลักจริยธรรม โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์หรือไม่ เป็นต้น
ขณะที่การพัฒนาคนเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจและประเทศอย่างยั่งยืน นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ในปีนี้ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังจะวางแผนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อเร่งสร้างและผลิตทรัพยากรบุคคลด้านไอทีและดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตก้าวกระโดดของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย
และยังจะมีการช่วยสนับสนุนการสร้างทักษะที่จำเป็นแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านสองแนวทางหลัก คือ 1) การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายใต้โครงการ Academic Initiative โดยการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี อาทิ AI, Machine Learning, การใช้งานระบบเมนเฟรม เป็นต้น ให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ พร้อมการ Train the Trainer และการส่งผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็มเป็นวิทยากรให้ความรู้ในโอกาสต่างๆ และ 2) การเดินหน้าโครงการ P-TECH อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ ภายใต้หลักสูตร 5 ปี โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด