A trusted partner for AI&Robotics solutions driven by innovations at scale

PTTEP เขย่างบฯ 4 แสนล้าน ลงทุนปั้นพอร์ตธุรกิจใหม่

ที่ผ่านมา ปตท.ประกาศแผนการลงทุน 5 ปี ด้วยงบประมาณ 8.65 แสนล้าน ซึ่งจัดสรรงบฯสัดส่วน 50% หรือประมาณ 4.325 ล้านกับลูกคนโต “บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม” หรือ ปตท.สผ. หรือ PTTEP ระหว่างปี 2564-2568

ภายใต้การนำของ “มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ที่ก้าวมารับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2564

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ปตท.สผ.

ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การดำเนินการตามหลัก ESG หรือ environmental social governance การปรับสู่พลังงานหมุนเวียน และการสร้างสรรค์พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต

มนตรีเปิดเผยวิสัยทัศน์การสร้างการเติบโตให้ ปตท.สผ. ภายใต้แนวคิด “energy new normal” โดยวางแนวทางการดำเนินธุรกิจ เน้น 3 เรื่องหลัก คือ สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ.มีความชำนาญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง โดยสิ่งสำคัญคือจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (carbon capture storage หรือ CCS) และตั้งหน่วยการกักเก็บคาร์บอนเพื่อใช้ประโยชน์ (carbon capture utilization : CCU) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ซึ่ง ปตท.สผ.มีแผนจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปัจจุบัน 17% ให้เป็น 25% ในปี 2030

และลงทุนในธุรกิจใหม่ (beyond E&P) 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี (AI and Robotics Ventures Company Limited) ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (gas to power) และพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ

สเกลอัพ ARV

ในปีหน้าจะเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจ ARV ซึ่งตั้งไข่มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ทาง ปตท.สผ.วางแผนจะให้เป็นสตาร์ตอัพ และมุ่งจะ “สเกลอัพ” ใน 4 สาขาธุรกิจ โดยบริษัทย่อย คือ

1) ROVULA สำรวจตรวจสอบและซ่อมแซมอุปกรณ์ใต้ทะเล

2) Varuna สำรวจพื้นที่เกษตรและป่าไม้ ประมวลผลด้วย AI และการจัดการอย่างยั่งยืน

3) Skyller ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มเทคโนโลยี AI

และ 4) Cariva เครือข่ายด้านสุขภาพ พัฒนาเทคโนโลยี AI และ IOT ซึ่งจะมุ่งแสวงหาการลงทุนร่วมกับพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FutureTech Energy Ventures Company Limited) และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด (FutureTech Solar (Thailand) Company Limited) จำกัด เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยี CCS และ CCU และพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (future energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน

เป้าหมายการลงทุนในธุรกิจใหม่ คาดว่าจะช่วยปรับพอร์ตสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนคิดเป็นสัดส่วน 20% ใน 15 ปีข้างหน้า หรือปี 2030 (2573)

รักษาฐานผลิตก๊าซ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั่วโลกจะมุ่งสู่การใช้พลังงานอนาคต เช่น การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า แต่แหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญยังคงมาจาก “ก๊าซธรรมชาติ”

ในส่วนของ ปตท.สผ. ปัจจุบันมีการใช้กำลังการผลิตก๊าซ 72-73% แต่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้กำลังการผลิตให้ได้ 80% เพราะประเมินว่าแนวโน้มดีมานด์ก๊าซในตลาดโลกยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง และราคาก็มีทิศทางที่ดีด้วย โดยคาดว่าราคาก๊าซที่ปรับไปสูงมาก จะต้องอาศัยระยะเวลาอีก 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อเข้าสู่สมดุล ส่วนทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 7-10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ลุยต่างประเทศ

ทั้งนี้ แม้ว่า ปตท.สผ.จะเน้นนโยบาย “coming home” ผลิตก๊าซที่อ่าวไทย แต่ที่ผ่านมาได้ขยายการลงทุนโครงการในต่างประเทศหลายแห่ง อาทิ เข้าไปสำรวจและผลิตในประเทศเมียนมาเพื่อส่งผลิตไฟฟ้าให้ภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม แต่จากปัญหาโควิดทำให้การก่อสร้างชะงัก คาดว่าจะผลิตได้เร็ว ๆ นี้

ขณะที่มาเลเซีย ไฮไลต์สำคัญคือการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 4 แห่ง คือ แหล่งซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลังเลอบาห์) ซาราวัก เอสเค 417 (หลุมโดกง-1) ซาราวัก เอสเค 405 บี (หลุมซีรุง-1) และซาราวัก เอสเค 438 (หลุมกุลินตัง-1) อยู่ระหว่างการวางแผนการผลิต

ส่วนในตะวันออกกลาง มีโครงการโอมาน แปลง 61 ที่เข้าซื้อสัดส่วน 20% ในไตรมาส 1 ปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเต็ม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสตที่ 69,000 บาร์เรลต่อวัน สำหรับโครงการในระยะสำรวจที่สำคัญ คือ อาบูดาบี ออฟชอร์ 1, อาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา และวางแผนเจาะหลุมสำรวจ

นอกจากนี้ยังมีโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งเข้าซื้อสัดส่วน 24.5% จากบริษัท ซีนุค (CNOOC Limited) ทำให้มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 49% โดยมีโซนาแทรค (SONATRACH) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของแอลจีเรีย เป็นผู้ร่วมลงทุนหลักในสัดส่วน 51% ปัจจุบันคาดว่าจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ปี 2565 กำลังการผลิต 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน

นิวไฮต์ยอดขาย

ความสำเร็จจากการขยายการลงทุนต่างประเทศจากโอมาน แปลง 61 และโครงการแปลงเอชในมาเลเซียที่เริ่มรับรู้เมื่อไตรมาส 2 ประกอบกับราคาพลังงานสูงขึ้น ส่งผลในปีนี้ “ปตท.สผ.” จะได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ของยอดขาย 417,000 ล้านบาร์เรลเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

ส่วนในปีหน้า ปตท.สผ.คาดว่าปริมาณการขายจะเติบโต 6-7% จากปีนี้ เพราะไม่เพียงแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซที่ยังทรงตัวสูง การรับรู้รายได้โอมาน แปลง 61 และแปลงเอชมาเลเซียแบบเต็มปี แต่ยังมีก้าวสำคัญในการเข้าดำเนินการแหล่ง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช)

ซึ่งแม้ว่าจะล่าช้าในการเข้าไปจัดการพื้นที่แหล่งเอราวัณจนสุ่มเสี่ยงต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติไม่ทันตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) แต่ ปตท.สผ.วางหมาก จะเจรจากับฝ่ายที่่เกี่ยวข้องในเดือนธันวาคมนี้ และ “เตรียมแหล่งก๊าซสำรอง” ทั้งบงกชและอาทิตย์ไว้ เหลือเพียงคลิกเดียว คือ การเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อรับซื้อก๊าซจากแหล่งสำรอง ทุกอย่างจะเป็นไปตามหมากที่วางไว้

Share your love